Article for Gamer

เมื่อ Game Online กำลังจะเป็น Game On-Demand

นี่คือเรื่องจริงที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว และน่าจะถูกใจเหล่านักเล่นเกมทั่วโลกเมื่อ Game Console ได้สร้างนวัตกรรมกับเทคโนโลยี Cloud Computing หลังจากที่เปลี่ยน Software ไปเป็นบริการ หรือ Service แล้ว ด้านตลาดเทคโนโลยีของเกม ก็ได้เปลี่ยนเกมที่เราซื้อใน รูปแบบสินค้าหรือซอฟต์แวร์ไปเป็นบริการเช่นกัน ซึ่งนวัตกรรมใหม่ล่าสุดนี้ เป็นอีกแนวคิดที่ตอบโจทย์ ทั้งด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ

OnLive: Game On-Demand

เราเคยรู้จัก SaaS (Software As A Service) หรืออีกชื่อหนึ่งที่เราเรียกว่า Software On-Demand มาบ้างแล้ว ในครั้งนี้ เราจะรู้จักกับ Game On-Demand หรือบริการเกมที่สามารถเอาแนวคิดด้าน Cloud Service มาประยุกต์ใช้ในชื่อว่า “OnLive”) OnLive อาจจะบอกว่าเป็น Game On-Demand Platform รูปแบบที่จะว่าใหม่ก็ไม่เชิง ปรากฏตัวครั้งแรกในงาน GDC 2009 (Game Developers Conference in 2009) โดยทีมพัฒนา Rearden Studios โดยให้คำนิยามว่าเป็น “บริการเกม” หรือเป็นอีกช่องทางในการเล่นเกมออนไลน์ โดยที่ผู้เล่นเกมนั้น สามารถเล่นเกมได้ทันที ไม่ต้องซื้อแผ่นซอฟต์แวร์เกมไป ติดตั้งที่เครื่องคอมพิวเตอร์

 

ในระบบการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) เกมที่เล่นอยู่นั้นจะมีการประมวลผลควบคู่หรือศัพท์ทางเทคนิค ที่เรียกว่า เกิดการ Synchronized มีการประมวลผลกราฟิก และเก็บข้อมูลการกระทำ (Log File) ในการรับส่งข้อมูลด้าน Network Dialog ทุกสิ่งต่างๆ จะส่งไปประมวลผลบน Remote Server ซึ่งถ้าหากพิจารณาดูแล้วการทำงานหลักๆ นั้นคือ รูปแบบเทคโนโลยี Cloud Computing

แนวคิดเริ่มต้นของ OnLive นั้น ทางทีม Rearden Studios ได้พัฒนาจากแนวคิดดั้งเดิมที่คิดจะพัฒนาระบบ Streaming Video ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยภาพและเสียงที่ส่งผ่าน Streaming นั้นสามารถพัฒนาให้มี Interactive ตอบโต้กับ ผู้ชมผ่านอินเทอร์เน็ต จึงเกิดการต่อยอดต่อมาโดยเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ของเกมออนไลน์ ส่ง Streaming Video และ Game Streaming ผ่านระบบเครือข่ายที่ปรับแต่งให้มีค่าหน่วงเวลา (Gap, Buffer) ของข้อมูลที่ต่ำมาก

ส่ง Streaming Video และ Game Streaming ผ่านระบบเครือข่าย

สำหรับ OnLive นั้น สิ่งที่ดูเป็นเรื่องท้าทายที่สุดในด้านเทคโนโลยี คือ การประมวลผลและรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วเหมือนกับว่าไม่ได้ทำงานออนไลน์ แม้ว่าความเร็วด้านเครือข่ายของ ผู้เล่นนั้นจะมีความช้าในการรับส่งที่แตกต่างกัน ตำแหน่งของ ผู้เล่นในสถานที่ต่างๆ ที่เป็นจุดออนไลน์ ประเภทของธุรกิจที่ให้บริการ Broadband ของผู้เล่น คุณภาพของ Streaming ของกราฟิกตัวเกม และ Video นั้นมีคุณภาพความละเอียดเทียบเท่ากับ ชม HDTV ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

แค่เทคโนโลยีการส่ง-รับข้อมูลที่เยี่ยมยอดแล้วยังไม่พอ ทีม Rearden Studios ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ Console ขนาดกะทัดรัด เหมาะมือที่มีชื่อว่า MicroConsole เป็นเครื่องเล่นเกมตระกูล Console เหมือนชื่อ แค่ต่างกันตรงที่ MicroConsole นั้นไม่ต้องอ่านแผ่นเกม หรือพูดให้ชัดก็คือ

“เล่นเกมโดยไม่ต้องใช้แผ่น”

เครื่อง MicroConsole นั้น มีแนวคิดแตกต่างเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง หากว่าเราต้องการจะเล่นเกม เพียงต่อเจ้าเครื่อง MicroConsole เข้ากับโทรทัศน์ เหมือนกับเครื่อง Console ตัวอื่นอย่าง XBOX หรือ PlayStation แค่บนตัว MicroConsole จะใช้การต่อสัญญาณคล้าย Router ของ ADSL Internet เชื่อมต่อ สัญญาณผ่าน Port HDMI มี Port USB สามารถเชื่อมต่อ Mouse และ Keyboard ได้ อีกทั้ง Joy Stick Control นั้นก็เป็นแบบ Wireless ไร้สาย

ไม่น่าแปลกใจเลยที่เทคโนโลยีตัวนี้ จะสร้างอาการอ้าปากค้างให้กับหลายๆ คนในงาน GDC 2009 บริษัทจัดจำหน่ายเกมยักษ์ใหญ่ 9 แห่ง ที่ได้เข้าร่วมงานนี้สนใจและต้อนรับเจ้า OnLive โดยได้ตกลงส่งสัญญานำเข้าเกมต่างๆ มาอยู่ในระบบ OnLive บริษัทที่ลงนาม ได้แก่ Ubisoft, EA, Take-Two, 2D Boy, Eidos, Codemasters, Epic, Atari และ Warner Bros. ซึ่งทางทีมผู้พัฒนาเกมในบริษัทข้างต้นอาจต้องดัดแปลงแก้ไขระบบ บางอย่างในตัวเกมเล็กน้อย เพื่อจะนำเกมไปให้บริการบน OnLive ได้อย่างไม่มีปัญหา

MicroConsole

เมื่อ Cloud Computing ได้ขยายมาถึงเรื่องของเกมและตอบโจทย์ได้ดีแล้ว ทางฝั่งนักพัฒนาเกมอย่าง XBOX Live ที่เป็นบริการเกม Download ของ Microsoft ผ่านเครื่อง XBOX อาจ จะพัฒนาต่อยอดระบบบริการของ XBOX Live โดยอาศัย Platform Microsoft Azure ก็เป็นได้ ซึ่งทาง Google นั้นมีท่าที ว่าจะให้บริการเกมผ่านระบบ Cloud Computing เหมือน Google Apps เช่นกัน เพียงแค่ว่าท่าทีของทั้งสองฝั่งนั้นต้องใช้เวลาซักระยะ

เพราะทาง Google นั้นประกาศแค่ว่าสนใจใน On-Demand Software อยู่ และได้พูดเปรยเรื่องของเกมและการประมวลผลแบบ Cloud Computing ปัจจุบันนี้บริการ OnLive และ MicroConsole นั้นยังเป็นรุ่น Beta ซึ่งฤดูร้อนช่วงซัมเมอร์ ปี 2010 นี้จะเป็นการเปิดตัว และเราคงต้องจับตาดูว่ามูลค่าเทคโนโลยีจากมันสมองดีๆ ตัวนี้จะมีมูลค่าสักเท่าไร

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นบริการ เปลี่ยนการประมวลผลศูนย์กลางเป็นการกระจายกำลัง เปลี่ยนชีวิตการทำงานออฟฟิศแคบๆ ให้เป็นชายหาดหรือร้านกาแฟ ก็ได้ขยายเข้ามาถึงธุรกิจบันเทิง อย่างเช่น เกมและเกมออนไลน์ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งหมด และยุคของการลงทุนหนักๆ ในการโฆษณาให้ครอบคลุมการผลิตอาจจะหมดไป เหลือเพียงแค่การโฆษณาและการตลาดเท่านั้น

เพราะเมื่อ Cloud Computing ตอบโจทย์โลกเทคโนโลยี โดยมีข้อดี คือ ลดต้นทุนหรือลดการลงทุนขององค์กรในเรื่อง การผลิต ลดการผลิตที่เกิดปัญหาสิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงาน ชี้ให้เห็นถึงอนาคตที่ดีหรือร้ายสองแง่ เมื่อสิ่งที่เป็นรูปธรรมกำลังจะกลายเป็นนามธรรม วันที่ออฟฟิศจะไม่มีการใช้ทรัพยากรกระดาษสิ้นเปลือง วันที่ค่าบริการดูแลซอฟต์แวร์จะไม่จำเป็น และวันที่แผ่นซีดีและดีวีดีเกมนั้นจะไม่มีวางแผงอีกต่อไป

หากบริการเหมือน OnLive ได้เติบโต สามารถตอบโจทย์กฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์เกมที่ประเทศของเรานั้นขึ้นชื่อใน เอเชียให้ลดลง เพียงแต่ว่าปัญหาในอนาคตจะเป็นการละเมิด หรือจารกรรมข้อมูลบริการ ซึ่งแน่นอนว่ามีทางเกิดขึ้นได้แน่ๆ และประเทศไทยอาจจะเป็นอันดับต้นๆ เพราะไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้เลยในเรื่องการดัดแปลง

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ลงใน นิตยสาร E-Commerce Magazine ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์  2553

ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์  2553

บริษัท มีเดีย แอสโซซิเอตเต็ต จำกัด
42/38 ซอย โชคชัยร่วมมิตร ถนนวิภาวดีรังสิต
แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Leave a Reply

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน