Future

Google กับเรื่อง Error ฉบับรวมมิตร

ใช่ว่าทุกอย่างจะเรียบง่ายไปเสียทั้งหมด เช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google เพราะว่า Google เองก็มีโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จกับเขาเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น Google Wave, Knol, Google Health หรือ Orkut ซึ่งบริการเหล่านี้มีผู้ใช้บริการไม่มากนัก หรือถ้าจะให้ยกตัวอย่างมากกว่านี้ก็อาจจะมีผลิตภัณฑ์อีกจำนวนมากที่เราไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อ

Google กับเรื่อง Error ฉบับรวมมิตร

Google Wave เปิดตัวในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยให้การทำงานพร้อมกันแบบรีลไทม์ หมายความว่าเราสามารถเขียนไฟล์เอกสารและแก้ไขไปพร้อมๆ กันได้ทันที ซึ่งในตอนนั้นมันได้รับความสนใจไม่แพ้ผลิตภัณฑ์ใหม่อื่นๆ ของกูเกิลเพียงแต่ความที่ในช่วงแรกๆ มีปัญหาเรื่องความช้าของระบบ รวมถึงการทำงานที่ค่อนข้างสับสน ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ไม่มากนัก ในที่สุด Wave ก็ถูกยกไปอยู่ในความดูแลของกองทุนซอฟต์แวร์ Apache แทน และจะยกเลิกให้บริการเร็วๆ นี้

Knol เป็นบริการหนึ่งของกูเกิลที่หมายมั่นว่าจะมาเป็นคู่แข่งของ Wikipedia ในฐานะบริการสารานุกรมแบบเปิดที่ให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการเขียนเนื้อหาต่างๆ ได้ ถึงแม้ปัจจุบัน Knol จะยังคงเปิดให้บริการอยู่ แต่เมื่อเทียบกับ Wikipedia แล้ว Knol ถือว่าห่างชั้นอยู่หลายเท่า (เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อบริการนี้เลยด้วยซ้ำ) นอกจากนี้ Knol ยังมีรูปแบบในการบริการที่ต่างออกไปจากวิกิพีเดียอยู่บ้าง เนื้อหาใน Knol นั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นความรู้เชิงวิชาการที่มีหลักฐานหรือเอกสารอ้างอิง แต่อาจอยู่ในรูปของความคิดเห็นต่อหัวข้อนั้นๆ ก็ได้ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากนักหากต้องการค้นคว้าเรื่องอะไรสักอย่าง

Google Health บริการที่เพิ่งประกาศว่าจะยุติการให้บริการไป โดยจะให้บริการไปจนถึงในวันที่ 1 มกราคมปี 2012 หลังจากที่เปิดให้บริการมาเพียง 3 ปีเท่านั้น บริการ Google Health เป็นหนึ่งในความพยายามของกูเกิลที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลทางสุขภาพของผู้ใช้ไว้ในรูปแบบดิจิตอล บริการนี้ทำหน้าที่เก็บประวัติการรักษา ประวัติการแพ้ยา และข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ใช้ไว้บนอินเตอร์เน็ต โดยคาดว่าจะสร้างความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการทางการแพทย์เมื่อไปถึงโรงพยาบาล คาดกันว่าบริการนี้ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องมาจากข้อมูลทางการแพทย์นั้นความเป็นส่วนตัวสูง คนส่วนใหญ่จึงอาจไม่ไว้วางใจที่จะฝากข้อมูลไว้กับทางกูเกิลเท่าไหร่ นอกจากนี้บริการนี้ยังไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับทางกูเกิลได้อีกด้วย

Google กับเรื่อง Error ฉบับรวมมิตร

เห็น G+ กระแสดีอย่างนี้อย่าคิดว่ากูเกิลลงตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์กครั้งแรกก็ส่อแววรุ่ง เพราะก่อนหน้านี้กูเกิลเคยปล่อย Google Buzz ลงตลาดมาก่อน แต่มันก็ค่อยๆ จางหายไป ถึงแม้ทุกวันนี้ Google Buzz ยังเปิดให้บริการอยู่แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้  นอกจากนี้กูเกิลยังมี Orkut ที่ถือเป็นเว็บสังคมออนไลน์เริ่มแรกของกูเกิล (เปิดตัวก่อน facebook ด้วยซ้ำ) ซึ่งหากนับจำนวนผู้ใช้งานอย่างเดียว Orkut อาจไม่นับว่าเป็นบริการที่เรียกว่า “ล้มเหลว” ได้เต็มปากนัก ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการราวๆ 100 ล้านคน แต่หากดูที่ความสามารถในการยึดพื้นที่ในตลาดสังคมออนไลน์ที่มีเจ้าตลาดอย่าง facebook นำอยู่ด้วยจำนวนผู้ใช้ราว 750 ล้านคนแล้ว Orkut ก็เรียกได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน ปัญหาสำคัญคือ Orkut ไม่สามารถขยายฐานผู้ใช้ให้เพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งผู้ใช้บริการ Orkut ส่วนใหญ่นั้นจำกัดแค่ในบราซิลหรืออินเดียเท่านั้น

ในสมรภูมิของโลกอินเตอร์เน็ต ประวัติศาสตร์ของกูเกิลนั้นถือเป็นประวัติศาสตร์ของการบุกโจมตีและยึดครองดินแดน เห็นได้จากการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และการเข้าซื้อควบรวมกิจการต่างๆ แต่หลายๆ ครั้งกูเกิลก็เลือกใช้แผนการรบที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นจังหวะเวลาในการเข้าสู่ตลาด หรือว่าการเข้าใจผู้ใช้ผิดไปจากความเป็นจริง ทำให้ผลิตภัณฑ์หลายๆ ตัวของกูเกิลที่แม้จะมีความน่าสนใจแต่ก็จำต้องจากไปก่อนวัยอันควร ซึ่งสิ่งหนึ่งที่กูเกิลคงจะได้จากการต่อสู้ในแต่ละครั้งก็คือ “ข้อมูล” เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตของตนให้อยู่รอดได้ในสมรภูมิแห่งนี้

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Leave a Reply

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน