Innovation

เปิดบันทึกตำนาน CGI ในโลกภาพยนตร์ ตอนที่ 1

จะว่าไปแล้วเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ประมวลผลกราฟิก หรือที่เราเรียกติดปากว่า CGI ซึ่งย่อมาจาก Computer-Generated Imagery กลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่วงการบันเทิง และธุรกิจด้านภาพยนตร์นั้นขาดไม่ได้ไปแล้ว เพียงแค่ฉาก Credit เปิดตัวภาพยนตร์ และรายชื่อนักแสดงไม่ว่าภาพยนตร์จะมีเนื้อเรื่องดี ไม่ดี น่าดู หรือห่วยแค่ไหน ผู้สร้างก็ขอให้ CGI เล็กน้อยๆ มาช่วยปรับปรุงองค์ประกอบสิ่งที่อยากจะมี ให้มีขึ้นมาได้ อย่างน้อยก็ Credit รายชื่อทีมานในกองถ่าย และนักแสดง ดูน่าสนใจก็พอแล้ว

เปิดบันทึกตำนาน CGI ในโลกภาพยนตร์ ตอนที่ 1

เทคนิคด้าน CGI นั้นในปัจจุบันมักจะปรากฏในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หลายเรื่อง เอาที่เด่นหน่อยก็ Avatar และใหม่หน่อยก็ที่เพิ่งไปดูมาคือ The Immortals และ Mission: Impossible – Ghost Protocol ภาพยนตร์แอ็คชันเรื่องเทพเจ้า และตอนที่ 4 ของซีรีย์สายลับกับภารกิตสุดเวอร์ ที่จะเห็นว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ยกมาล้วนใช้ CGI หนักเอาการ ทั้งฉากสงคราม และตัวละครชาวเผ่านาวีใน Avatar, ฉากต่อสู้ของนักรบกรีก เกือยทั้งเรื่องใน The Immortals และ ฉากแอ็คชันผาดโผน ไปจนถึงระเบิดมหันตภัยมากมายที่นาย อีธาน ฮันต์ และผองเพื่อนต้องเจอ เอาเป็นว่าจริงๆ แล้ว CGI มีความสำคัญกับการสร้างภาพยนตร์ บทความที่เขียนต่อไปนี้ผมจึงไปหารวบรวมบันทึก ข้อเท็จจริงกับการใช้เทคโนโลยี CGI กับวงการภาพยนตร์มาให้ผู้อ่านได้รู้ไปพร้อมๆ กันครับ

ภาพยนตร์เรื่อง The Immortals ที่มีฉากกราฟิกเลือดสาดจุใจมากมาย

ฉากไต่ตึกที่สูงที่สุดบนดูไบในภาพยนตร์เรื่อง Mission: Impossible - Ghost Protocol

แน่นอนว่า ภาพยนตร์ดีๆ จะได้ฉาก CGI เจ๋งๆ ซักฉากนั้น ตลอดเวลาที่มีข้อจำกัดเรื่อง คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และ ซอฟท์แวร์ อยู่บ้างแต่ภาพยนตร์ในอดีตหลายเรื่องก็ผ่านพ้นข้อจำกัดเหล่านั้นมาได้ และนี่คือบันทึกแห่ง CGI บนโลกภาพยนตร์ครับ

ปี 1973-1979 ยุคของ 2D-3D Wireframe

ภาพยนตร์ในยุคนี้เริ่มใช้เทคนิค CGI มารวมกับแผ่นฟิลม์ โดยที่เราดูแล้วก็มองไม่ออกหลอกว่ามีการใช้ในหลายเรื่อง และในหลายเรื่องนั้นก็ชัดเจนเหลือเกินว่า CGI มันจงใจโชว์เกินไปอาจจะเพราะข้อจำกัดในเรื่องของซอฟท์แวร์ และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อยู่บ้าง เทคนิคที่เราคุ้นตาคือการซ้อนภาพ 2 มิติ (2D) ให้เกิดเป็นภาพ 3 มิติที่จะชัดเจนมากคือภาพยนตร์เรื่อง Star Wars Episode4: A New Hope ในฉากการใช้กราฟิก 3D Wireframe ขึ้นมาในหน้าจอที่ฝ่ายต่อต้านยาน X-Wing นั่งวิเคราะห์ยานพิฆาตดารา (Star Destroyer) และ ดาวมรณะ (Death Star) ของฝั่งจักรวรรดิ์ จน 3D Wireframe ดังกล่าวนั้นถูกพัฒนาให้สามารถประมวลผลพื้นผิว หรือ Surface ขึ้นมาได้ ในปี 1979 ภาพยนตร์เรื่อง Alien ของ Ridley Scott นั้นยานอวกาศของเหล่าสิงห์รถบรรทุกแห่งจักรวาล ก่อนจะพบกับสัตว์ร้าย หน้าจอยานพวกเขามีกราฟิกดวงดาวที่มี กราฟิกแสดงผลสภาพพื้นผิวขึ้นมา เพื่อให้นักบินศึกษาก่อนนำลงจอดบนดวงดาว ถือว่าเป็นอะไรที่ฮือฮาในกลุ่มนักพัฒนา CGI สำหรับภาพยนตร์ ตั้งแต่ Starwars ในปี 1977

Star Wars Episode4: A New Hope ในฉากการใช้กราฟิก 3D Wireframe ขึ้นมาในหน้าจอที่ฝ่ายต่อต้านยาน X-Wing นั่งวิเคราะห์ยานพิฆาตดารา (Star Destroyer) และ ดาวมรณะ (Death Star)

กราฟิกการจำลองพื้นผิวดวงดาว

ในปี 1973 และ 1976 ก่อนที่จะมีการใช้ 2D-3D Wireframe นั้นเคยมีเทคนิคที่ชื่อว่า 2D CGI เกิดขึ้นมาก่อนนั่นคือการใช้ CGI แบบ 2 มิติมาช่วยปรับภาพในฟิลม์อีกที ซึ่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องเทคนิคนี้คือภาพยนตร์เรื่อง WestWorld ภาคที่ 1 และเริ่มมาใช้ 3D CGI ในภาพยนตร์เรื่อง WestWorld ภาคที่ 2

ในภาพยนตร์เรื่อง Westworld ทั้ง 2 ภาคใช้เทคนิค CGI ในการแทรกลูกตาโลหะบนใบหน้านักแสดงทั้งเรื่อง

ทำให้เมืองจำลองแห่งโลกอนาคตอย่าง West World เต็มไปด้วยคาวบอยหุ่นยนต์ที่ไม่น่าไว้วางใจทั้งเรื่อง หากใครที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องมีคำถามว่า มันมี CGI ตรงไหน คำตอบคือ ดวงตาของตัวละครหุ่นยนต์ที่แสดงโดยคนทุกตัวครับ ที่ดวงตาของพวกเขาจะเป็นแสงเงา และมีวงจรเล็กๆ ให้สังเกตกันพองาม

ปี 1980-1989 ก้าวแรกของแอนิเมชันจาก CGI ยุคของ Lucas Film

ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่วงการภาพยนตร์เริ่มมองเห็นว่า เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ด้านประมวลผลกราฟิก หรือ CGI นั้นมีการพัฒนาในด้านฮาร์ดแวร์ประมวลผลที่สูงขึ้น และซอฟท์แวร์ที่ใช้พัฒนาภาพกราฟิกเองก็เริ่มมีเครื่องมือช่วยเหลือมากมาย ฉากเด่นหลายฉากในภาพยนตร์หลายเรื่องในยุคนี้จึงกล้าที่จะเล่นภาพกราฟิกด้วย CGI ล้วนๆ แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาที่ไม่นานเพราะเรื่องของค่าใช้จ่ายยังสูงนัก ภาพยนตร์เรื่อง Star Trek ภาคที่ 2 ตอน Wrath of Khan นั้นมีฉากที่สร้างขึ้นจาก CGI ล้วนๆ ในฉากที่ดาวเคราะห์ที่ตายไปแล้ว กลับมามีชีวิต และอุดมสมบูรณ์ด้วย จรวดนำวิธีที่ชื่อ Genesis ฉากแค่ไม่กี่นาทีที่ปรากฏตามเหตุการณ์นั้นเกิดจาก CGI ทั้งหมด ที่น่าทึ่งคือเป็นผลงานแรกๆ ของทีมงานกราฟิกของ George Lucas ที่มีชื่อทีมคุ้นหูว่า Pixar

ภาพจำลองดวงดาวจาก Star Trek 2: Wrath of Khan

ต่อมาไม่นานก็ได้มีภาพยนตร์น่าทึ่งเกิดขึ้นในปี 1982 ที่นำ CGI มาใช้เกือบทั้งเรื่องในฉากยานขับเคลื่อนต่อสู้กันยาวนานกว่า 20 นาทีอย่างภาพยนตร์เรื่อง Tron ที่นำแสดงโดย Jeff Bridges กับชุดตัวละครสุดเท่ด้วยสี Black Light

ภาพยนตร์เรื่อง Tron เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้ CGI มาทุ่มแบบเต็มเหนี่ยวทั้งเรื่อง

ระยะเวลาที่ผ่านไปจนถึงปี 1985 ทีมพัมนา CGI เล็กๆ ของ George Lucas อย่าง Pixar ก็ได้สร้างเทคนิคน่าทึ่งในยุคนั้นขึ้นมาในภาพยนตร์เรื่อง Young Sherlock Holmes ฉากที่อัศวินกระจกปรากฏตัวขึ้นมาต่อสู้ซึ่งเป็นเทคนิคที่ก้าวล้ำ และสร้างเสียงวิพากษ์วิจารย์สูงมากในสมัยนั้น ซึ่งในตอนนั้นมีภพยนตร์คุณภาพ และภาพยนตร์ยอดแย่มากมายที่ใช้ CGI ในงานเก็บรายละเอียดหลายเรื่องทำให้ George Lucas กลายเป็นทีมที่มีชื่อเสียงด้าน CGI มากที่สุดเพราะความไม่เกี่ยงงานของเขานั่นเอง

Young Sherlock Holmes ฉากที่อัศวินกระจกปรากฏตัวขึ้นมาต่อสู้
ในช่วงปลายปี 1988 ทาง George Lucas ได้เริ่มบุกเบิกนำเทคนิค CGI ที่เรียกว่า Digital Morphing Effect หรือเทคนิคการ Morph การเปลี่ยนภาพหนึ่งไปเป็นภาพหนึ่ง รูปทรงหนึ่ง ง่ายๆ คือการเปลี่ยนสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งหนึ่ง เช่น คนไปเป็น แก้วน้ำ เป็นต้นครับ

ในภาพยนตร์เรื่อง Willow พ่อมดแคละของเราได้ร่ายเวทย์มนต์เปลี่ยนร่าง แม่มดเฒ่า ให้กลับคืนเป็นคนหลังจากโดนสาบเป็นสัตว์มานาน ซึ่งกว่าจะกลายเป็นคนแม่มดเฒ่าต้องกลายเป็น นกยักษ์, เต่า, เสือ เป็นต้น อีกทั้งฉากที่ Val Kilmer ต่อสู้กับมังกร Hydra ก็ใช้เทคนิค CGI ร่วมกับ Stop Motion เกือบทั้งหมดในฉากนั้น ผลงานของ George Lucas ยังคงสร้างชื่อให้กับเขา และทีมงานต่อไปอีก

เทคนิค CGI ยุคเริ่มต้นมากมายที่อยู่ในภาพยนตร์ Willow

ในภาพยนตร์ในตำนานเรื่อง Indiana Jones and The Last Crusade ในปี 1989 มีการใช้ CGI มากหมายหลากหลายเทคนิคในภาพยนตร์ ฉากเด่นที่สุดคือฉากของตัวร้ายในเรื่องหลังจากดื่มน้ำในจอกศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวา ต้องใช้เทคนิคการ Morph ให้ร่างกายผุพังเป็นผีซึ่ง หลักจากนั้นภาพยนตร์สยองขวัญแนวอิทธิฤทธิ์หลายเรื่องก็ได้นำเทคนิคนี้ไปใช้กันดาดเดือด เวลา คนหน้าค่อยๆ เละ หากเรื่องไหนไม่มีงบก็ใช้ Stop Motion เอา

ฉากตายของตัวร้ายในการดื่มจอดศักดิ์สิทธิ์ ใน Indiana Jones and The Last Crusade

ปี 1989-1991 ยุคเริ่มต้นของ Motion Capture และการอัพเกรดโลก CGI

ในปี 1989 คาบเกี่ยวของภาพยนตร์เรื่อง Indiana Jones and The Last Crusade นั้นก้มีภาพยนตร์ของ James Cameron อยู่เรื่องหนึ่งเป็นผลงานหลังจากที่เขาได้ทำภาคต่อของภาพยนตร์เรื่อง Alien อย่าง Aliens (ภาค 2) ไปภาพยนตร์ที่ขึ้นชื่อและน่าทึ่งในเรื่องการนำ CGI ได้นำ 3D Wireframe เก่ากับ Motion Capture มาจับความรู้สึกในการแสดงสีหน้าบนกราฟิกมนุษย์ต่างดาวที่แฝงมากับมวลน้ำในภาพยนตร์เรื่อง The Abyss ซึ่งเป็นผลงานของ ILM ที่คว้ารางวัล Visual Effect ไปในจากภาพยนตร์เรื่องนี้ เทคนิดการ Morph ถูกนำไปใช้กับภาพยนตร์สยองขวัญเกรดบีมากมาย

The Abyss กับเทคนิคการใช้ Motion Capture แสดงใบหน้า

เทคนิคด้าน Motion Capture จึงเป็นเทคนิดเดียวที่ภาพยนตร์ที่มีทุนสูง และมีเครื่องฮาร์ดแวร์ในการประมวลผลดีๆ นั้นใช้ได้ ปี 1990 ภาพยนตร์เรื่อง Total Recall ในฉากสถานีรถไฟ ฉากเด่นที่ใช้ Motion Capture มาแสดงผลให้เห็นหน้าจอ X-Rays คนและอาวุธที่สร้างจาก CGI ให้เดินไปมาตามระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวที่ติดกับคนแสดง ขยับได้คล่องตัว

ภาพยนตร์เรื่อง Total Recall ใช้เทคนิค Motion Capture มาช่วยในฉาก X-Ray อาวุธ

ปี 1991 โลกของ CGI ในเทคนิคการ Morph คนคนเดียวเป็นสิ่งของสิ่งเดียวได้เปลี่ยนไป เมื่อเทคนิคการ Morph นั้นถูกนำมาใช้ในการผนวกกับตัวละครในภาพยนตร์แบบแยกจุดได้ เครื่องจักรสังหาร T-1000 ที่พร้อมจะเข้ามาเตะก้นหุ่นเหล็ก T-800 ในภาพยนตร์เรื่อง Terminator 2: Judgment Day เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Morphing Effect มาใช้มากกว่า 300 ช็อตในภาพยนตร์ ตั้งแต่การเปลี่ยนสภาพเป้นของเหลว ไปจนถึงใบหน้า และร่างกายที่ฉีกออกของ T-1000

T-1000 กับการ Morph ใบหน้าจากจุดใดจุดหนึ่งก็ได้ไม่ต้อง ทั้งตัว

ปี 1992-1995 ซอฟท์แวร์ Render กำลังมา

เวลาผ่านไปไม่นาน ซอฟท์แวร์สำหรับกราฟิกได้มีบทบาทมากมายต่อวงการภาพยนตร์ในยุคนี้ 1992 ภาพยนตร์เรื่อง Death Becomes Her การใช้ CGI ในการซ้อนภาพผิวหนังมนุษย์ยืดหด ทะลุ ขาด ได้เป็นเทคนิคที่ดูแปลกและเนียนมาก ซึ่งยังถือว่าทำดีกว่าภาพยนตร์ในปัจจุบันหลายเรื่อง พ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์ Steven Spielberg มาแรงในยุคแห่งเครื่องมือซอฟท์แวร์กำลังเติบโต Jurasic Park คือผลงานชิ้นโบว์แดงของเขาในปี 1993 ที่สามารถออกแบบกราฟิกน่าทึ่งกับสวนสนุกไดโนเสาร์ของ John Hammons ทั้งเรื่องซึ่งผมเชื่อว่าน้อยคนนักที่ไม่รู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้

เทคนิคที่ใช้ซอฟท์แวร์ Render ในภาพยนตร์เรื่อง Dead Become Her

การสร้างไดโนเสาร์มาไล่ ขย้ำคนใน Jurassic Park

ในปี 1994 ภาพยนตร์เรื่อง Forrest Gump นำแสดงโดย Tom Hanks ก็เป็นอีกเรื่องที่ใช้ซอฟท์แวร์ในการทำ CGI ให้ตัวละคร Forrest Gump ไปปรากฏในเหตุการณ์สำคัญ ใครจะรู้ว่าฉากตีปิงปองในประเทศจีนนั้น CGI เด่นๆ นอกจากลูกปิงปองแล้ว นั่นคือคนดูเต็มฮอลล์นั่นเองครับ

ฉากตัดต่อมากมาย และ CGI เนียนๆใน Forrest Gump

ลิง และ กราฟิกขนเสมือนจริงในภาพยนตร์เรื่อง Jumanji

จนกระทั่ง ILM ได้กลับมาจับซอฟท์แวร์ทำ CGI บ้างผลที่ออกมาก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง Jumanji ที่ขนเอาบรรดาสัตว์มากมายปรากฏออกมาจากเกมกระดาน แม้ว่ากราฟิกจะดูไม่สมจริง และเป็นการ์ตูนมากไปนักสำหรับ CGI ของเหล่าสัตว์ทั้งหลายแต่ ILM ก็ได้สร้างสิ่งน่าทึ่งขึ้นมาอยู่ดี แม้จะไม่ได้ถูกใส่ใจในตอนทำ Jumanji นั่นคือเทคนิดการทำ “ขน” แบบเสมือนจริง

ทำไงดีมีแต่ CGI หมดเลยแล้วตัวประกอบอดทนใส่ชุดแบบเราก็ตกงานดิ

เป็นไงล่ะครับประเดิมตอนแรกของบันทึกตำนาน CGI กับงานภาพยนตร์ในต่างประเทศที่หลายเรื่องนั้นเราแทบไม่ได้รู้เลยว่ามันมี CGI มาเกี่ยวข้อด้วยตอนไหน ตอนต่อไปจะพาทุกคนไปสู่ยุคก้าวหน้าทั้งด้านไอเดีย เทคโนโยลีเสมือนที่เป้นรูปแบบ CGI ใหม่ๆ กันในปี 2000 ครับ

แหล่งอ้างอิง : imdb

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Leave a Reply

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน