Future

โอกาสทองของ SMEs กับธุรกิจ Digital Content

จะเห็นได้ว่าธุรกิจโทรคมนาคมในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ดูคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ให้บริการหลายฝ่ายเริ่มเปิดให้บริการการสื่อสารความเร็วสูงที่เป็น3G ทุกวันนี้ผู้บริโภคจึงบริโภคสื่อออนไลน์ ที่กลายเป็นเสมือนช่องทางหลักเทียบเท่าได้กับการรับชมโทรทัศน์ หรือวิทยุกระจายเสียง เรียกว่า Digital Content ซึ่ง รวมไปถึงเนื้อหา ข่าวสารที่ปรากฏบนเว็บไซต์ วิดีโอ และเพลง ที่เข้ามาเติมเต็มและตอบสนองผู้บริโภคให้วิ่งทันตามโลกและธุรกิจที่วิ่งไปข้างหน้า

โอกาสทองของ SMEs กับธุรกิจ Digital Content

 

เมื่อยุคไร้สายรวดเร็ว 20 เท่า

ความรวดเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลคือ สิ่งที่บ่งบอกความพึงพอใจของผู้บริโภคได้ดีที่สุด ข้อมูล Multimedia ทั้งหลายที่ปรากฏในรูปแบบ Digital Content จะต้องพร้อมที่จะถึงมือของผู้บริโภคสื่ออย่างทั่วถึง โดยข้อมูลสถิติของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ชี้ว่า ผู้บริโภคในปี 2554 มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคนในปี 2555

ปัจจัยสำคัญที่จะยกระดับของสื่อให้เป็นสื่อที่มีคุณภาพคือ บริการ Digital Content ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคให้ใช้บริการเสริมผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตมากขึ้น อีกทั้ง Digital Content เหล่านั้น จะต้องถูกแปลงไปยังรูปของแอพพลิเคชั่น ที่สามารถใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเพื่อความสะดวกในการเลือกใช้ โดยแบ่งประเภทการใช้งาน และประเภทของสื่อออกเป็นเฉพาะด้านต่างๆ ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ได้ด้วยตนเอง

Digital Content กับการพัฒนาธุรกิจ SMEs

การเติบโตในสื่อ Digital Content จะเป็นเหมือนประตูที่เปิดให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีโอกาสในการสร้าง Content เฉพาะด้าน และขยายช่องทางด้านงานบริการ อีกทั้งโปรโมตสินค้าได้สะดวกขึ้นถึงมือผู้บริโภค เช่น ธุรกิจเพลง เกมออนไลน์ รายการโทรทัศน์ที่ลงทุนโปรดักชั่นเอง ข่าวสารบนหน้าหนังสือพิมพ์ และบทความพิเศษในนิตยสาร ที่บางครั้งเจ้าของธุรกิจเหล่านี้อาจจะต้องพบกับข้อจำกัด และขอบเขตในเรื่องต้นทุน ในการทำธุรกิจผ่านช่องทางแบบสื่อดั้งเดิม (Traditional Media)

เมื่อตลาดของ Digital Content เปิดกว้างบนเครือข่าย 3G และอัตราการเติบโตของผู้บริโภค Content ที่ผ่านสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้น ก็น่าจะเป็นช่องทางที่ยืดหยุ่นและเข้าถึงลูกค้าได้ตรงกลุ่มมากที่สุดในลักษณะออนไลน์เรียกว่า Mobile Digital Media ที่ผู้บริโภคมักจะพกพาติดตัวตลอดเวลา ดังนั้น Mobile Digital Media จะเป็นเทรนด์ หรือแนวโน้มด้านการให้บริการ และการตลาดที่น่าจะได้รับความนิยมที่สุดในปี 2555 ก็เป็นได้

โอกาสธุรกิจบน Mobile Digital Media

ในเมื่อ Mobile Digital Media กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ด้านธุรกิจใหม่ในอนาคตที่ใกล้เข้ามา แน่นอนว่าเราจะต้องพบแนวทางการทำการตลาดที่ถูกปรับรูปแบบให้กลายเป็นของใหม่อย่าง Mobile Marketing ที่มีการพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์ การนำเสนอโฆษณา และการทำการตลาดมากมายให้เราได้พบเห็นกันมากขึ้น ผู้ให้บริการหลายรายจะต้องหันมาให้บริการ Digital Content กันมากขึ้น เพราะว่าบริการด้าน Mobile Digital Media นั้นสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคสื่อต่างๆ ได้ทุกช่วงเวลา

โอกาสทองของ SMEs กับธุรกิจ Digital Content

นอกเหนือจากการให้บริการ 24 ชม. แล้ว ต้นทุนของ Digital Content ที่ให้บริการถือว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่าการผลิตบนสื่อแบบเดิมอย่าง Traditional Media เช่น หนังสือ นิตยสาร ค่าใช้จ่ายในการออกอากาศ ต้นทุนด้านแผ่น CD และ DVD ไปจนถึงข้อมูลในการจัดส่งสินค้า เพราะ Digital Content เหล่านี้ จะต้องให้บริการเสิร์ฟถึงมือลูกค้าแบบ OTA (On the Air) ไม่จำเป็นต้อง Stock สินค้าเหมือนสินค้าแบบเก่า เช่น หนังสือที่ถูกตีพิมพ์มาเป็นเวลานาน สามารถวางอยู่บนชั้นวางในรูปแบบ Digital นานเท่าที่จะนานได้

รูปแบบของการโฆษณาบน Digital Content

รูปแบบสื่อโฆษณาประเภทสิ่งพิมพ์ที่น่าดึงดูด และสร้างความสนใจในการเลือกซื้อสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้มากเท่าใด รูปแบบสื่อโฆษณาที่ปรากฏบน Digital Content หรือบน Mobile Digital Media ทั้งหลายก็ยังคงน่าสนใจเท่านั้น และจะเป็นเหมือนการต่อยอดในการทำการตลาด สื่อที่ปรากฏบนสมาร์ทโฟนในรูปแบบของ Digital Content เป็นไฟล์วิดีโอ หรือปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม (Interactive Media) และเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Twitter, Facebook, YouTube และ Google+ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำกิจกรรมผ่านระบบลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) เพื่อต่อยอดธุรกิจ อีกทั้งสามารถเก็บรวบรวมสถิติข้อมูลในการวัดระดับความพึงพอใจของผู้บริโภค เพื่อจะนำไปเป็นแนวทาง และข้อมูลในการพัฒนาสินค้า และบริการให้สามารถนำเสนอแก่ผู้บริโภคได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น

ข้อจำกัดใน Digital Content และ Mobile Digital Media

แม้ว่า 3G และ Digital Content จะน่าสนใจ และมีแนวโน้มจะได้รับความนิยม แต่ก็ยังมีช่องโหว่บางอย่างที่ทำให้ Mobile Digital Media หรือ Digital Content เหล่านี้ไม่อาจจะกระจายได้ทั่วถึง

กรณีที่จะต้องพบนั่นคือ เรื่องแพลตฟอร์มของระบบปฏิบัติการที่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตรุ่นต่างๆ ใช้ เพราะความหลากหลายของระบบปฏิบัติการเหล่านี้ถูกแบ่งกลุ่มขึ้นอยู่กับผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เลือกใช้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ไม่สามารถบริการได้ครบทุกแพลตฟอร์ม

ในจุดนี้การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ผู้ให้บริการจำเป็นต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายของตนในเรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับสื่อ อย่าง iOS ของ Apple, Android ของ Google และ BlackBerry ของ RIM ไปจนถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ผู้บริโภคจะเลือก ได้วิเคราะห์แล้วว่าจำเป็นที่จะต้องให้บริการ Digital Content และ Mobile Digital Media แก่แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของกลุ่มเป้าหมายหลักของตนเสียก่อน

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ตลาดของ Digital Content เป็นตลาดที่มีการแข่งขันน้อย เพราะ Mobile Digital Media เป็นเทรนด์ด้านการตลาดที่ยังใหม่สำหรับธุรกิจในประเทศไทย คู่แข่งในตลาดของ Digital Content จึงยังมีปริมาณที่ไม่มาก ถ้าหากเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการความสะดวกสบายในการบริโภค Content ต่างๆ และต้องการรับข่าวสารได้ทุกที่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นแนวโน้มที่ผู้ประกอบการถือโอกาสก้าวเข้ามาแข่งขัน และพัฒนาบริการ Digital Content เพื่อเป็นการสร้างฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการสร้างความได้เปรียบในตลาด

อีกทั้งมุมมองของผู้บริโภคในตอนนี้ ยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อ Digital Content เหล่านี้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของตัว Content และต้องแตกต่างจากเนื้อหาที่สามารถหาได้ทั่วไปบนอินเทอร์เน็ต ต้องเป็นสถิติ รายงาน หรือข้อมูลเชิงวิเคราะห์ที่ไม่สามารถค้นหาได้จากช่องทางใดๆ ตัวอย่างที่คาดว่าน่าจะเป็นไปได้คือ นิตยสารฉบับพิเศษ และรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม มีสาระที่แปลกกว่าเดิม

ดังนั้น จะเห็นว่าผู้ประกอบการที่สนใจ Mobile Digital Content ควรจะต้องคัดเลือก และพัฒนา Content ให้แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น และให้มากกว่าสื่อแบบดั้งเดิม อีกทั้งต้องให้อิสระกับผู้บริโภคในการเลือกบริโภค พร้อมกับมีช่องทางในการเข้าถึงเนื้อหา Content ได้สะดวก และมีการโต้ตอบ เก็บข้อมูลกับผู้บริโภคได้ ที่สำคัญผู้บริโภคต้องสามารถออกความคิดเห็นเกี่ยวกับ Content และต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุง Content ให้ดีขึ้น เปรียบเสมือนการสร้างความสัมพันธ์ต่อผู้บริโภคให้มีส่วนร่วม ถือว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมผู้บริโภคให้เห็นถึงมูลค่ามากกว่าสื่อแบบดั้งเดิม (Value Add Service) อีกทั้งต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึง Digital Content ใหม่ว่า Content ที่มีคุณภาพต้องคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุด

เกณฑ์การตั้งราคาของ Digital Content

ราคาของ Content หรือบริการ Mobile Digital Media  ยังมีความคลุมเครือ และอยู่ในภาวะที่ต้องลองผิดลองถูกจนกว่าธุรกิจนี้จะกลายเป็นมาตรฐานหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าจำเป็นต้องตั้งราคาของ Content ที่ให้บริการบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน ทั้งแบบข้อความ และสื่อที่เป็น Multimedia ที่สามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้นั้น ช่วงแรกผู้ประกอบการอาจจะต้องเปิดให้ผู้บริโภคสามารถทดลองดาวน์โหลดเนื้อหาได้ฟรีก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจในเอกลักษณ์ของ Digital Content และเข้าใจถึงความต่างจาก Content ในสื่อเดิม

ควรจะสุ่ม หรือกระจาย Content ในช่วงแรกแก่สมาชิกเฉพาะกลุ่ม โดยน่าจะเริ่มจากกลุ่มผู้ที่มีความต้องการ หรือสนใจที่จะเข้ามาทดลอง Content เหล่านี้ฟรีก่อน เพื่อที่จะสามารถเก็บรวบรวมผลตอบรับ ข้อวิจารณ์ จากกลุ่มผู้ใช้งานที่มาจากการทดลองบริโภค Content  นำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดมูลค่า หรืออัตราค่าบริการที่เหมาะสมต่อไป ผู้บริโภคในปัจจุบันยังคงมีความต้องการ Content ที่อยู่ในรูปแบบของ Multimedia ที่สามารถโต้ตอบสื่อสารกับผู้บริโภคได้ทันที และยังสามารถเลือกชม Content และกำหนดการรับข่าวสารได้ด้วยตนเอง

Digital Content ต้องรีบ เรียบร้อย และชัดเจน

แม้ว่า Digital Content และ Mobile Digital Media จะเป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรงและเป็นโอกาสใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ แต่ถ้าบุคลากรในองค์กร หรือผู้ให้บริการในปัจจุบัน ไม่ปรับตัวและขยายธุรกิจ เพื่อแสวงหาโอกาสการทำกำไรโดยยึดจากพฤติกรรมของผู้บริโภค และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าผู้ให้บริการเหล่านั้นมีโอกาสที่จะสูญเสียความสามารถ และโอกาสในการแข่งขันบนตลาดส่วนนี้ได้

ดังนั้น องค์กรทั้งหลายที่เล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจส่วนนี้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้เกิดความเข้าใจในด้านเทคโนโลยี อย่างน้อยก็เบื้องต้น และต้องผลักดันให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถปรับตัว ให้เดินไปตามทิศทางของกระแสแห่งยุคสมัย และเข้าใจรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เข้ามาในอนาคต เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความสำเร็จขององค์กรในการดำเนินธุรกิจระยะยาวในอนาคต

อย่าลืมว่า แอพพลิเคชั่นคือสิ่งที่ Digital Content ขาดไม่ได้

แม้ว่าจะกำหนดทิศทาง และนโยบายของการทำธุรกิจ Digital Content และ Mobile Digital Media โดยยึดหลักของแนวคิดด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมยุคใหม่แล้วก็ตาม การที่จะนำแนวคิดเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นบริการ ยังต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนสำคัญจากการออกแบบ และกลุ่มนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สำหรับองค์กรใหญ่การพัฒนาบุคลากรด้านนี้คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับองค์กรขนาดเล็ก หรือธุรกิจประเภท SMEs พันธมิตรด้านเทคโนโลยีพวก Vender หรือ Outsource คือสิ่งที่จำเป็น เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความรู้ และความเข้าใจในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งจะออกแบบแอพพลิเคชั่นที่รองรับบริการ Digital Content ได้ดีที่สุด

บทสรุป

กระแสความนิยมอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต จะบ่งบอกถึงอนาคตของธุรกิจด้าน Digital Content ได้ดีที่สุด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะพาสังคมและโลกเข้าสู่ยุคของ Mobile Digital Media อีกทั้งแนวโน้มที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการSMEsที่มองเห็นช่องว่างของการแข่งขัน กระโดดเข้ามาเป็นผู้ให้บริการ Digital Content สร้างช่องทางในการทำธุรกิจ และรายได้ใหม่ๆ โดยอาศัยพื้นฐานจากการสื่อสารยุค 3G ที่เอื้อต่อการบริโภคข้อมูล Multimedia ณ เวลานี้คือ โอกาสทองที่เหมาะสำหรับการเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคตกับ เทรนด์ที่เรียกว่า Mobile Digital Media

ตีพิมพ์ในนิตยสาร E-commerce Magazine ฉบับที่ 157 มกราคม 2555
e-Commerce Magazine

 

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Leave a Reply

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน