DeveloperFeaturedGame Development

วิเคราะห์ธุรกิจ เกม ยังคงไปได้สวยบนตลาดมือถือ และแอพฯ

บทความวิเคราะห์ธุรกิจเกม ในปี 2012-2014 นี้ เขียนลงบนนิตยสาร E-Comerce Magazine และเว็บไซต์ Marketing Oops! แล้วค่อยมาลงที่นี่ครับสำหรับ Startups ที่วางแผนการขยายโอกาสตัวเองเข้าสู่สนามแข่งขันในฐานะ “ตัวจริง” ช่องทางที่น่าจะได้ผลที่สุดคือ แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นอะไรก็ตามหากทำยอด Subscrib และยอดการ Install ได้สูงก็น่าจะมีโอกาสที่ VC หรือ Venture Capital ในต่างประเทศจะเข้ามาเจรจาเสนอทุนให้ โดยเฉพาะตอนนี้โอกาสของ Startups นั้นมีเพิ่มขึ้นมาอีกเมื่อทั่วโลกหรือเจาะจงเฉพาะเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็ลงความเห็นถึงความต้องการ และพื้นที่ของตลาดว่าความนิยมของผู้บริโภคที่ทำเงินได้ดีที่สุดในตอนนี้คือ “เกม” (Game)

game

ย้อนกลับมาว่าด้วยเรื่องเกมก่อน หากพูดถึง “เกม” แล้วทุกคนทราบดีว่า มันคือสิ่งที่อยู่ในหมวดหมู่ของความบันเทิงที่แทบขาดไม่ได้ แม้ว่าโลกนี้จะปราศจากสมาร์ทโฟน เครื่องเล่นเกมคอนโซล และคอมพิวเตอร์พีซี เราทุกคนก็ยังคงหาการละเล่นอื่นๆ ที่เข้าข่าย “เกม” ได้ในโลกแห่งความเป็นจริงอยู่ดี เพราะเกมเปรียบเสมือนการหลุดพ้นจากความเครียดทั้งหลายเหตุผลและความรู้จะสอดแทรกเข้าไปก็คงไม่มีปัญหา ทำให้ธุรกิจนี้ “ไม่มีวันตาย” พิสูจน์ได้จากคลิปวิดีโอ หรือข่าวอาชญากรรม จากสื่อที่ไร้จิตสำนึก และผู้ปกครองที่ไม่ค่อยยอมรับว่าตัวเองผิด ก็มักโทษว่าเด็กติดเกม และ “เกม” มักจะกลายเป็นผู้ร้ายที่นำเสนอความรุนแรง และเกินจริงมาตลอด แต่ในความเป็นจริงสื่อจะโจมตีแค่ไหนทุกคนก็ยังรู้ดีว่า “ไม่เกี่ยวกับเกม” ทำให้ธุรกิจนี้ยังคงมีผู้ผลิต และนักพัฒนายังคงกล้าจะลงทุนอยู่ต่อเนื่อง

ยิ่งในช่วงหลังจะเห็นว่า กลุ่มนักพัฒนา Startups คนไทยหลายคนเลือกที่จะพัฒนาเกมผ่านแอพพลิเคชั่นมากขึ้นลักษณะของเกมในช่วงหลังที่นักพัฒนา และ Startup นิยมทำกันนั้น ทำให้ผมทราบดีว่า ข้อมูลของกลุ่มเหล่านี้มีเยอะมาก เกมที่สุดยอดคนไทย นิยมพัฒนากันนั้นจะเน้นตลาดสากล หรือความเป็น Worldwide มากกว่าการพัฒนาเกมสำหรับคนไทย ดังนั้นจะเห็นว่า เกมที่ถูกพัฒนาจะมีภาษาอังกฤษเป็นหลัก และรูปลักษณ์ตัวละครทั้งหมดจะเป็นรูปแบบสากลเพื่อเรียกจุดขาย ประกอบกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเริ่มมีการเข้ามาหาพันธมิตรในประเทศไทยอย่างพวกกลุ่มนักพัฒนามากขึ้นในช่วงปลายปี กับการประกาศบอกว่า ตลาดของเกมมีการขยายต่อไปไม่มีทางตัน ดังนั้นไม่แปลกที่ว่า หากเรายังมองเห็นช่องทาง และมีทีมงานที่รองรับการพัฒนาเกม และไอเดีย การวางแผนที่ดีพอ การลงทุนกับตลาดเกมก็น่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มเสี่ยงอยู่สำหรับนักพัฒนา และ Startups ชาวไทย

 12

สัดส่วนของการติดตั้งเกมบนสมาร์ทโฟน โดยแบ่งตามแพลตฟอร์ม

จากรายงานของ App Annie และ IDC ช่วงไตรมาสหลังของปี 2013 ได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ตลาดของเกมบนสมาร์ทโฟน โดยเรื่องของแพลตฟอร์มนั้น จำนวนของผู้ติดตั้งเกมบนแพลตฟอร์มหลัก Android และ iOS นั้น สัดส่วนของ Android มีอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดเฉลี่ย 58 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วย iOS ที่อยู่ประมาณ 18-22 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจัยในการอัพเดตระบบปฏิบัติการ iOS7 และขนาดของหน้าจอที่ไม่ค่อยรองรับเกมเก่าๆ และการปรับเกมใหม่ๆ มีผลทั้งสิ้นต่อยอดการติดตั้งเกมบน iOS ของ Apple ตามมาด้วยแพลตฟอร์มอย่าง Symbian ที่แม้จะหายไปแล้ว แต่ตลาดเกมบน Feature Phone ในประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย ที่ผมได้ไปสอบถามมาจากการประชุมภายในของบริษัทกับตัวแทน 2 ประเทศนี้ ยังคงสอดคล้องไปในทางเดียวกับ รายการสถิติจาก IDC ที่ระบบปฏิบัติการ Symbian ยังคงได้ยอดการติดตั้งเกมอยู่ที่ 10-13 เปอร์เซ็นต์

แต่ไตรมาสที่ 3 นั้นยังคงน้อยกว่าไตรมาสที่ 2 อยู่ ตามมาด้วยยอดการติดตั้งบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เหลือสัดส่วนอยู่น้อย เพราะ Ecosystem ของระบบปฏิบัติการยังไม่โตพอ อย่าง BlackBerry และ Windows Phone OS ถูกจับรวมควบกับระบบปฏิบัติการตัวอื่นๆ แต่ก็ยังกินสัดส่วนที่รวมกันมากกว่า Symbian โดยเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 19 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ เทียบเท่ากับ ไตรมาสที่ 2 สัดส่วนสำหรับผู้บริโภคที่ใช้แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ที่ติดตั้งเกมลงบนเครื่องนั้นถูกแบ่งออกชัดเจนแยกกันคือ สมาร์ทโฟนอยู่ที่ 1.3 พันล้าน ส่วนแท็บเล็ตอยู่ที่ 200 ล้านครั้งในการติดตั้งโดยประมาณ

43

ภาพรวมของ Market Share บน App Store

ข้อเปรียบเทียบเชิงลึกระหว่างแพลตฟอร์ม iOS และ Android ในการติดตั้งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจะพบว่า iOS ของ App Store นั้นมี Market Share ของการดาวน์โหลด อยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ เทียบเท่ากับ Google Play Store ของ Andriod ทำให้ทราบว่า ตลาดของ App Store ทั้ง 2 แฟลตฟอร์มยังคงมีการการดาวน์โหลดที่เทียบเท่ากันตามความนิยม และจำนวนของแอพพลิเคชั่นประเภทเกมอยู่ตรงกันข้ามกับการ Spending เพื่อจ่ายเงินในเกม อย่างเกมที่เสียเงิน,  In-App Purchase หรือรูปแบบอื่นๆ นั้น ตลาดของ Google Play Store ของ Android โตขึ้นจาก ไตรมาสที่ 2 อยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่เหมือน iOS ของ App Store ที่ในช่วงไตรมาส 3 นั้นกลับมี Consumer Spending ลดลงจากเดิม 75 เปอร์เซ็นต์ เป็น 68 เปอร์เซ็นต์

ตลาดที่น่าลงทุนกับธุรกิจแอพพลิเคชั่นเกม

หากลองวิเคราะห์ดูแล้ว ผู้บริโภคในฝั่งของเอเชียแปซิฟิก นั้นยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มของ iOS และ Android ซึ่งลองสังเกตดูจะพบว่า ในการเติบโตจากไตรมาสที่ 2 และ ไตรมาสที่ 3 มากกว่า 2.5 หน่วย (Pts) ล้วนเป็นสัดส่วนของผู้บริโภคในเอเชียทั้งสิ้น ลองลงมาคือ อเมริกา ที่มีผู้บริโภคตลาดเกมอยู่เป็นอันดับสอง โดยเฉพาะในแพลตฟอร์ม iOS นั้น มีจำนวนใกล้เคียงกับเอเชีย แต่ใน Google Play นั้นอาจจะมีน้อยกว่าก็ตาม ตามด้วยยุโรปที่แม้จะเป็นหน่วยผู้บริโภคเรื่องเกมที่น้อยกว่าเอเชีย ก็ยังคงเป็นกลุ่มที่ Spending มากที่สุด โอกาสในส่วนน้อยที่จะสร้างรายได้จากเกม จึงไม่ควรมองข้ามตลาดของยุโรป แต่อัตราการเติบโตของไตรมาสที่ 2 และ 3 ชี้วัดแล้วว่า แพลตฟอร์ม Google Play Store นั้นผู้บริโภคแอพพลิเคชั่นเกมมีอัตราลดลง

เป็นไปได้ว่า ธุรกิจเกมในช่วงปี 2013 และเตรียมพร้อมในปี 2014 นี้ นักพัฒนา และ Startups ที่ตั้งใจจะลงทุนต้องมีการวางแผนที่ดีเกี่ยวกับโครงสร้าง ความสนุก และกราฟิกของเกมให้โดนใจนักเล่นเกมในเอเชีย ไม่ใช่แค่ไทยและยุโรป เพราะตลาดที่โตในตอนนี้ถ้าให้คาดการณ์แล้ว เกมคงหนีไม่พ้นญี่ปุ่น เกาหลี และจีน (สอดคล้องกับสมาร์ทโฟน iPhone5C ที่ได้รับคามนิยมอย่างมากในประเทศจีน) ที่ทำให้สัดส่วนของผู้ใช้ iOS เติบโตขึ้นมา อีกทั้งนอกจากจะพัฒนาเกมเสร็จแล้ว ต้องมีการวางแผนการตลาดเตรียมพร้อมในการสร้างรายได้ จากไอเทมตัวละคร หรือรูปแบบโฆษณาอื่นๆ ภายในเกม เพราะกลุ่มผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นลูกค้าชั้นดีในการ จ่ายเงินเพื่อความบันเทิงของเกมที่เราพัฒนา

14-brave-frontier-5

วิเคราะห์โอกาสของแพลตฟอร์มที่ควรลงทุน

หากเกิดคำถามว่า iOS และ Android นั้นเราควรลงทุนในแพลตฟอร์มไหนดี ถ้าตอบแบบไม่ต้องคิดอะไร ก็ทั้ง 2 ตัว แต่ถ้าหากว่ามีปัญหาเรื่องของทีมพัฒนา และแพลตฟอร์มโอกาสของตลาด แม้ว่าสถิติที่ยกมาข้างต้นอาจจะบอกได้ชัดแล้วแต่ยังไม่เคลียร์นัก ผมเลยหาข้อมูลของรายได้แต่ละแพลตฟอร์ม และภาพรวมของรายได้ Revenue Sharing ของ iOS และ Android มาให้ตัดสินใจกันดู โดยข้อมูลที่ได้มานั้นมาจาก Tech-Thoughts ปี 2013 ไตรมาสที่ 4 ประกอบกับ IDC และ App Annie มาให้เพื่อที่ว่าการวางแผนพัฒนาเกมสำหรับคนที่มีงบประมาณไม่มาก และต้องการรายได้ก่อนจะได้เลือกว่า ควรพัฒนาแพลตฟอร์มไหนก่อนมาให้ตัดสินใจ

Revenue Share ของ iOS และ Android รวมไตรมาสที่ 4 ปี 2012 ไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2013

สำหรับ iOS ของ  Apple ในส่วนของเกมนั้น ไตรมาสที่ 4 ของ ปี 2012 Revenue Share มีการลดลงจาก 77 เปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ที่ 67 เปอร์เซ็นต์ในปี 2013 ไตรมาสที่ 3 ตรงกันข้าม Android หรือ Google Play นั้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2012 กลับมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2012 ที่ 23 เปอร์เซ็นต์ ไปถึงไตรมาส 3 ปี 2013 ที่ 33 เปอร์เซ็นต์ แม้ยอดที่ลดลงของ iOS จะมากก็ตามแต่ภาพรวมแล้ว iOS ก็ยังคงมี Revenue ที่มากกว่า Android อยู่เท่าตัว ซ้ำการเติบโตที่ว่าไว้ข้างต้นอาจจะไม่เกี่ยวกับเกมเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเกี่ยวกับ อุปกรณ์และราคาที่มีหลากหลาย และเอื้อมถึงได้ของ Google นั่นเอง

สถิติของรายได้ ผลประกอบการของ 2 แพลตฟอร์ม ถูกแยกออกมาให้เปรียบเทียบตามทวีปของ 3 อันดับแรกข้างต้นคือ อเมริกา ยุโรป และเอเชีย จะเห็นว่าข้อมูลการเติบโตของ Revenue Growth หรือผลประกอบการในธุรกิจประเภทเกมนั้น ก็ไปในทางเดียวกับ Market Share ของ App Store ทุกอย่าง เอเชียและอเมริกายังคงครองใจกลุ่มผู้บริโภคเกมบน iOS  ส่วน  Android อเมริกายังคงไม่ได้รับความนิยม เป็นไปได้ว่าที่ Google Play ในเอเชียนั้นก็อยู่ที่อุปกรณ์ อย่างเช่น เกาหลี รัฐบาลสนับสนุนสมาร์ทโฟน Samsung อย่างมาก โดยให้ส่วนลด 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นไม่แปลกที่อัตราการเติบโตในเอเชียจะสูง ซ้ำรุ่นอื่นๆ ของ Android ที่ยังออกราคาถูกมาให้เลือกใช้กัน ส่วนยุโรปนั้น ยังคงต้องลุ้นกันต่อไป อาจจะเป็นเพราะปัจจัยของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เกมยังคงเข้าไม่ถึงกลุ่มคนส่วนนี้เทียบเท่าอเมริกาและเอเชีย 

ประเภทของเกม ผู้บริโภคกับตลาดเป็นสิ่งที่คู่กัน

จากที่วิเคราะห์มาทั้งหมด ประกอบกับการพูดคุยกับนายทุนใหญ่ในเอเชียหลายเจ้า ทำให้ทราบว่าการพัฒนาเกมเพื่อสร้างรายได้นั้นเป็นเรื่องที่น่าทำ น่าลงทุน แต่ก็ต้องดูพฤติกรรม และลักษณะของผู้บริโภคด้วย ซึ่งลักษณะของผู้บริโภคนั้น เป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุดในการกำหนดยอดขายของเกมที่เราจะพัฒนา เช่น ประเภทของเกม และผู้บริโภค กรณีศึกษาที่พบมาคือ เกมยอดนิยมอย่าง Plants vs Zombies 2 ที่ได้รับความนิยมมากทั่วโลก แต่มองกลับกัน ตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่จะได้กำไรมากที่สุดอย่างเอเชียนั้น นอกจากประเทศไทยที่บริโภคเกมได้ทุกแนว ประเทศอื่นในเอเชียกลับไม่ตอบรับเจ้าเกม Plants vs Zombies 2 นี้เลย โดยเฉพาะญี่ปุ่น อินเดีย จีน และเกาหลี เนื่องด้วยกราฟิกสไตล์ฝรั่งจ๋า ทำให้นักเล่นเกมกลุ่มนี้ไม่ค่อยชอบ ยอดการถอนติดตั้ง Uninstall สูง และ Revenue ของเกมนี้ในเอเชียเข้าคั่น “ตายสนิท” แม้จะเป็นการ Casual หรือ Puzzle (เกมแก้ปัญหาฆ่าเวลา) เหมือนกัน แต่ผู้เล่นในเอเชียกลับไม่นิยมตัวละครสไตล์นี้ แล้วหันไปเทใจให้กับกราฟิกประเภท Candy Crush Saga แทน

นอกเหนือจากนั้นคือ ประเภทของเกมเอเชียนั้นหากย้อนกลับไปในยุคเติบโตของตลาดเกมบนพีซี และ เกมคอนโซล จะเห็นว่าเกมที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่จะเป็นเกมออนไลน์ที่เล่นพร้อมๆ กัน มีการคุยกัน เล่นกับเพื่อน ท้าชิงคนด้วยกันมากกว่า เล่นกับระบบ AI (Artificial Intelligent) หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างโดยนักพัฒนา มีการซื้อเลเวล ซื้อไอเทมเพื่อนแข่งขัน และตัวเงินที่ได้มาจากวิธีการเหล่านั้นมักจะมาจากผู้เล่นในเอเชียทั้งสิ้น

Social Game กลายเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ของผู้เล่นเกม หรือผู้บริโภคในเอเชียพร้อมๆ กับ การออกแบบตัวละครและกราฟิกให้ในแนวของการ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่น เกาหลี แอพพลิเคชั่นเกมอย่าง Clash of Clans หรือ Line Pokopang ที่มีการทำระบบ In-App Purchase จึงได้รับความนิยมมาก และมีผู้ใช้บริการใจถึงที่ต้องการเล่นร่วมกับเพื่อน แข่งขันกันเพื่อให้ได้เป็นที่ 1 ของเกม รายได้ของเกมดังกล่าวจึงสูงและกลายเป็นแอพพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมในการดาวน์โหลดมากที่สุดทั่วโลก โดยมีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดคือ เอเชียนั่นเอง

ตลาดที่แตกต่างออกมาคือ จีน และอินเดีย โดยเฉพาะอินเดีย แม้ว่าสัดส่วนของ Android และ iOS จะน้อยที่สุด และระบบ Feature Phone นั้นจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่อินเดียเองก็มียอดดาวน์โหลดและซื้อเกมเพิ่มขึ้น โดยเกมที่ได้รับกล่าวขานมากที่สุดนั้นคือ เกมที่สร้างจากภาพยนตร์ของประเทศตัวเอง อย่าง The Krrish ที่เป็นภาพยนตร์ฮีโร่เหมือน Marvel ใน BollyWood ซึ่งพอถูกจับมาทำเป็นเกมแล้ว ความนิยมในการดาวน์โหลดเกมของอินเดียทั้ง iOS และ Android ก็เติบโตขึ้นทันที

จะเห็นว่า เกมกับผู้บริโภคบนสมาร์ทโฟนคงเติบโตควบคู่กันไป สำหรับสถิติที่ยกมาทั่วโลกและเจาะจงเอเชียนั้นอาจจะช่วยเหลือนักพัฒนา และ Startups หลายกลุ่มได้พอทราบข้อมูลสำหรับการวางแผน และเรียนรู้พฤติกรรมของผู้เล่น ผู้บริโภคของเกมที่เราจะพัฒนา ส่วนคำถามที่ว่า แล้วถ้ายังต้องการเจาะตลาดในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว เกมที่สร้างควรเป็นแบบไหน ผมขอตอบอย่างง่ายๆ เลยว่า สัดส่วน Android ในประเทศไทยสูงกว่า iOS และที่สำคัญผู้บริโภคที่อยู่ในแพลตฟอร์ม Android นั้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ คือผู้หญิง ดังนั้น เกมที่ควรจะสร้างคงจะไม่ใช่เกมที่รุนแรง แฟนตาซีจ๋า แน่นอนครับคุณผู้อ่าน

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน