ETC

ไขรหัสลับ Google

ความสำเร็จของกูเกิลน่าจะอยู่ที่ความสามารถในสร้างแรงจูงใจให้คนอยากลองใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่เสมอๆ โดยผู้ใช้บริการมักจะติดใจบริการหนึ่งและข้ามไปใช้อีกบริการหนึ่ง เนื่องจากแทบทุกผลิตภัณฑ์ของกูเกิลนั้นสามารถทำงานร่วมกันข้ามผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี คำขวัญบริษัทที่ว่า Don’t be evil จึงน่าจะเป็นองค์ประกอบที่ซ่อนอยู่ในความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

Google code ถอดรหัสลับกูเกิล

จากภาพรวมผลิตภัณฑ์ของกูเกิลจะเห็นว่ากูเกิลต้องการจะเป็นมหาอำนาจบนโลกอินเตอร์เน็ต และกูเกิลก็ทำได้สำเร็จไปแล้วหลายด้านด้วย กูเกิลมีผู้ใช้งานหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ทำการค้นหานับแสนล้านครั้งต่อปี ซึ่งความยิ่งใหญ่ของระบบค้นหาข้อมูลของกูเกิลนี้เอง ที่ทำให้กูเกิลสามารถคาดเดาได้ว่าผู้คนต้องการอะไร และสามารถจัดแสดงโฆษณาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้กูเกิลสร้างรายได้มหาศาลจากการโฆษณาได้

อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างก็ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับทางกูเกิล เช่น Google Navigation, Google Maps, Google Earth, Google Docs ซึ่งหากพิจารณาดูดีๆ บริการเหล่านี้น่าจะคิดเป็นรายจ่ายจำนวนมหาศาลของกูเกิลในการพัฒนาฐานข้อมูลทั้งหมดขึ้น แต่ความที่กูเกิลมี “ลูกค้า” จำนวนมาก ทำให้ “รายจ่าย” จำนวนมหาศาลที่กูเกิลต้องจ่ายดูน้อยลงเมื่อคิดเป็นรายจ่ายเฉลี่ยต่อลูกค้า ต้นทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาสักชิ้นจึงถือว่าไม่แพง หากเทียบกับผู้ใช้บริการทั้งหมด ซึ่งกูเกิลก็ใช้กลยุทธ์ “ฟรี” นี้เองในการขยายฐานลูกค้าออกไปอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับสร้างรายได้จากการขายโฆษณา

หากวันนี้คุณเป็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์หลายๆ ตัวของกูเกิลไม่ว่าจะค้นข้อมูลด้วย Google Search, ใช้โทรศัพท์ Android, อัพเดตข่าวคราวเพื่อนผ่าน Google+, เช็คเมล์และตารางงานผ่าน Gmail และ Gcalendar, พิมพ์รายงานด้วย Google Docs, ดูวิดีโอบน YouTube, แก้ไขภาพถ่ายด้วย Picasa ฯลฯ คุณจะพบว่าบริการของกูเกิลนั้นครอบคลุมชีวิตประจำวันของเราเกือบทั้งหมด โดย “ของฟรี” ที่กูเกิลให้เราใช้นั้นถือเป็นการแลกกันกับข้อมูลที่เราส่งกลับไปให้บริษัท ซึ่งสิ่งนี้ก็คือแนวทางการทำธุรกิจของกูเกิลที่ดำเนินมาโดยตลอด

กูเกิลสร้างตลาดของฟรีขึ้นโดยไปทับกับบริการที่ต้องเสียเงินของคู่แข่งและสร้างรายได้ทางอ้อมให้บริษัทผ่านบริการนับสิบที่มีอยู่ในมือ การเติบโตของ Android, Chrome และ Google+ เป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำกลยุทธ์ธุรกิจแบบฟรีของกูเกิล ซึ่งหากมองในแง่ของผู้ใช้บริการอย่างเราๆ แล้วก็นับว่ามีประโยชน์ด้วยเช่นกัน ความที่กูเกิลพยายามใช้ Android เป็นฐานสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่พึ่งพาคอมพิวเตอร์มากเหมือนแต่ก่อนให้เข้าถึงบริการอื่นๆ ของบริษัทเป็นกลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกับ Apple ที่ผลักดัน iPhone เพียงแต่กูเกิลมีบริการในมือที่เหนือกว่า Apple มากและบริการเหล่านั้นยังฟรีด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เจ้าตลาดคอมพิวเตอร์อย่าง Microsoft และเจ้าตลาดความบันเทิงอย่าง Apple ต้องเจอศึกหนัก

Google+ นับเป็นแนวรบใหม่ของกูเกิลในโลกออนไลน์ Eric Schmidt อดีต CEO ของกูเกิลเคยยอมรับว่า facebook นั้นทำได้ดีมากในตลาด Online Identity หรือการสร้างตัวตนบนโลกอินเตอร์เน็ต และจาก Google+ นี้เองที่กูเกิลจะใช้บริการทั้งหมดที่ตัวเองมี (YouTube, Gmail, Gdocs, Gcalendar ฯลฯ) มารวมกับ “ตัวตน” บนโลกอินเตอร์เน็ต (ผ่าน Google+) และสร้างโลกแห่งตัวตนออนไลน์ใหม่ขึ้นมาแข่งกับ facebook

หลังจากนี้เราคงจะเห็นกูเกิลพยายามผลักดันตัวเองไปสู่ลูกค้ากลุ่มอื่นมากขึ้น เช่น Google TV ซึ่งในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นแม้กระทั่งเครื่องใช้ในบ้านอื่นดึงข้อมูลจากกูเกิลและสร้างตลาดใหม่ๆ ขึ้นมาในอนาคตอันใกล้นี้ก็เป็นได้ เช่น ตู้เย็นที่ขึ้นรายการวัตถุดิบที่ต้องใช้ตามสูตรอาหารที่ค้นจากอินเตอร์เน็ต พร้อมแนะนำสถานที่ซื้อวัตถุดิบที่ยังขาดในตู้เย็นผ่าน Google Maps เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ก็ด้วยพลังของ Google Search และบริการต่างๆ ที่กูเกิลมี สิ่งเหล่านี้คงจะเป็นแนวทางที่กูเกิลพยายามสร้างต่อไป และมั่นใจได้เลยว่าอนาคตอินเตอร์เน็ตอันใกล้นี้จะแข่งขันกันดุเดือดกว่าที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Leave a Reply

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน