Lifestyle'nTrend

ทำความรู้จักกับเทคโนโลยีทัชสกรีนบนมือถือ

หนึ่งในนวัตกรรมยุคหน้าที่สัมผัสได้ด้วยมือคุณ เชื่อว่าหลายๆ ท่านที่มีอายุเลขสองนำหน้า (เช่นผู้เขียน) จะพอจำมือถือในยุคแรกๆ ได้ ที่มีขนาดใหญ่แบบปาหัวแตกได้ และมีหน้าที่ในการโทรเข้า/รับสายเท่านั้นไม่มีอะไรซับซ้อนมาก จึงทำให้มีแต่เฉพาะปุ่มกดธรรมดา ต่อมาเมื่ออุปกรณ์ดังกล่าวมีการพัฒนามากขึ้น มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายและง่ายดายขึ้น จนในวันนี้ที่เราต่างก็เคยสัมผัสกับเทคโนโลยี “ทัชสกรีน” บนมือถือกัน

ทำความรู้จักกับเทคโนโลยีทัชสกรีนบนมือถือ

เรื่องเล่าของทัชสกรีนบนมือถือ

อุปกรณ์พกพายุคแรกๆ ที่มีระบบทัชสกรีนเป็นอุปกรณ์ที่เรียกว่า PDA (Personal Data Assistant) หรืออุปกรณ์ช่วยเหลืองานส่วนตัวเมื่อราวสิบกว่าปีก่อน ซึ่งยังใช้จอขาว-ดำ อีกทั้งยังมีราคาแพง จึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก

ถัดมาในช่วงปี 1994 นั้นได้เริ่มมีมือถือที่เป็นทัชสกรีนตัวแรกของโลกวางตลาด ซึ่งมีชื่อว่า IBM Simon ซึ่งมีราคาสูงถึงราว 30,000 บาท และต้องใช้ปากกา Stylus แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมอยู่ดี จนกระทั่งถึงช่วงราวปี 2000 – 2004 ที่ได้มีหลายค่ายเริ่มออกมือถือแบบทัชสกรีนหลายรุ่นมาสร้างสีสันบ้างเช่น Ericsson R380 และ Siemens SX45 แต่ก็ยังมีราคาแพงมากและกลุ่มผู้ใช้งานยังถือว่าเล็กมากอยู่

จนกระทั่งถึงปี 2007 จึงได้มีอัศวินม้าขาวเข้ามาถล่มกำแพงด้านราคาลงนั่นก็คือ iPhone นั่นเอง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย เพราะมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ทำงานได้อย่างรวดเร็ว และทำให้ทัชสกรีนนั้นเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมตลอดจนกลายมาเป็นมาตรฐานไปแล้วในมือถือปัจจุบันที่ค่ายอื่นๆ ต้องทำตาม

หน้าจอ

หน้าจอของระบบทัชสกรีนที่ใช้ในมือถือมีอยู่ 2 รูปแบบหลักๆ คือ Resistive กับ Capacitive ครับ

Resistive TouchScreen

การทำงานของทัชสกรีนแบบ Resistive

การทำงานของทัชสกรีนแบบ Resistive

หน้าจอทัชสกรีนแบบ Resistive หรือเรียกกันว่าจอนิ่มนั้นจะประกอบด้วย เลเยอร์ด้านบนที่ยืดหยุ่นและเลเยอร์ด้านล่างที่อยู่บนพื้นแข็งคั่นระหว่าง 2 เลเยอร์ด้วยเม็ดฉนวน ซึ่งทำหน้าที่แยกไม่ให้ด้านในของ 2 เลเยอร์สัมผัสกัน และเมื่อคุณกดที่ Touch Screen จะทำให้วงจร 2 เลเยอร์ต่อถึงกัน จากนั้นวงจรควบคุมก็จะคำนวณค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งจะแตกต่างไปตามตำแหน่งที่สัมผัส เมื่อคำนาณค่ากระแสตามแนว ตั้งและแนวนอนก็จะได้ตำแหน่งที่สัมผัสบนหน้าจอ

จุดเด่นหลักๆ ของหน้าจอประเภทนี้คือ ต้นทุนสุดแสนจะถูก กินไฟน้อย ความแม่นยําในการทัชสูง และทนทานต่อฝุ่น ความชื้นได้ดี ใช้อะไรจิ้มจอก็ได้ ส่วนข้อเสียหลักๆ คือ จอไม่ค่อยทนเท่าไหร่ และแสดงผลได้ไม่ดีเท่าจอ Capacitive

Capacitive TouchScreen

Capacitive TouchScreen

การทำงานของทัชสกรีนแบบ Capacitive หรือหน้าจอแข็งที่มาแรงสุดๆ เพราะปกติก็มีใช้บน iPhone อยู่แล้ว โดยโครงสร้างของ TouchScreen แบบ Capacitive นั้นประกอบด้วยแผ่นแก้วเคลือบผิวด้วยอ็อกไซด์ของโลหะแบบโปร่งแสง เมื่อถึงเวลาการใช้งานก็จะมีการป้อนแรงดันไฟฟ้าที่มุมทั้งสี่ของหน้าจอเพื่อสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความเข้มสม่ำเสมอตลอดทั่วทั้งแผ่น ผู้ใช้จะต้องใช้นิ้วมือเปล่าๆ สัมผัสที่จอเพื่อดึงกระแสจากแต่ละมุมที่ให้แรงดันตกลง จากนั้นแผงวงจรควบคุมก็จะคำนวณเป็นตำแหน่งที่สัมผัสได้

ข้อดีหลักๆ คือแสดงผลได้คมชัดและทนทานมาก ตอบสนองการสัมผัสได้เร็วสะใจ รองรับระบบมัลติทัชเต็มรูปแบบ แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกันคือ ต้องใช้นิ้วจิ้มเท่านั้น ใช้เล็บ ปากกาจิ้มไม่ได้

มัลติทัชคืออะไร

มัลติทัชเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีภาคต่อของทัชสกรีนครับ จะแปลตรงตัวเลยก็คือ การสัมผัสที่มากกว่า 1 จุด ถูกพัฒนามานานไม่แพ้กับทัชสกรีนเช่นเดียวกัน แต่ได้ถูกเอามาใช้จริงๆ จังๆ เมื่อ Apple ได้นํามันมาใช้บน iPhone นี้เอง ผู้ใช้สามารถบังคับหน้าจอได้โดยใช้ 2 นิ้ว (หรือมากกว่านั้น) เพื่อสั่งงานในรูปแบบต่างๆ ส่วนการทํางานจะต้องอาศัยทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยส่วนใหญ่แล้วระบบมัลติทัชจะมีใช้งานบนมือถือทัชสกรีนแบบ Capacitive ส่วน Resistive มีเทคโนโลยีที่จะทําให้มันใช้งานมัลติทัชได้แล้ว แต่ยังไม่มีใช้อย่างเป็นทางการ

หน้าจอทัชในอนาคต

หน้าจอทัชแบบนี้คงไม่มีแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป

หน้าจอทัชแบบนี้คงไม่มีแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป

มีคํายืนยันของเหล่าผู้ผลิตหน้าจอทั้งหลายแล้วว่า “จะมีหน้าจอแบบ Flexible หรือยืดหยุ่นออกมาแน่นอน” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะทําให้มือถือตลอดจนอุปกรณ์พกพาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น E-Book Reader หรือ Tablet ไม่ต้องมีรูปทรงเหลี่ยมๆ ตั้งเป็นแท่งอีกต่อไป แต่มันจะสามารถม้วนเป็นรูปทรงต่างๆ ได้ ซึ่งทำให้การพกพานั้นสะดวกสบายมากขึ้น

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรม Touch Screen ที่ใช้ในมือถือครับ ซึ่งตามความจริงแล้วยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกที่มีหน้าจอแบบสัมผัส เพียงแต่เราอาจยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสมันในตอนนี้เท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นจอมอนิเตอร์ หรือจอโทรทัศน์ เป็นต้น ทว่าเพียงเท่านี้ก็คงจะพอทำให้คุณนึกถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะทยอยออกมาในอนาคตว่าจะต้องมีจอแบบสัมผัสเป็นส่วนหนึ่งด้วยแน่นอน

ถูกตีพิมพ์ที่ TrueLife Magazine ฉบับที่ 2

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Leave a Reply

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน