Idea for Life

เยาวชน 3.0 ภัยของวัฒนธรรมหน้าจอ

 

การเปลี่ยนพฤติกรรมจากการอ่านหนังสือสิ่งพิมพ์ธรรมดาไปเป็นการรับข่าวสารผ่านแท็บเล็ต อีกทั้งการเปิดเครื่องมือค้นหา และใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการทำการบ้าน นัดพบเปิด Google+ Hangout ถ่ายทอดสดให้คนทั่วโลกดูกิจวัตรของเรา ใช่ครับ โลกในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว และเปลี่ยนไปเยอะมากจนลืมไปว่าเราอยู่กันแบบเดิมอย่างไร

เยาวชน 3.0 ภัยของวัฒนธรรมหน้าจอ

 

เด็กอายุ 3-5 ขวบ สามารถทำความเข้าใจ iPad ได้รวดเร็ว และดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่กำราบอาการงอแงของพวกเขาซะอยู่หมัด วัยรุ่นใช้เวลาในการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูหน้าจอ และทำกิจกรรมกับมันชั่วโมงละไม่ต่ำกว่า 8-10 ครั้ง

 

วัฒนธรรมหน้าจอกำลังเกิดขึ้น

หากสังเกตวัยรุ่นทุกวันนี้ จะพบว่า พวกเขาใช้เวลาคลุกคลีกับคอมพิวเตอร์มากกว่าหนังสือ และใช้เวลากับการออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง บนทุกแพลตฟอร์ม รวมไปถึงสมาร์ทโฟน สมาธิของพวกเขามักจะจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ละสายตาไปจากมัน

ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปที่ประเทศสิงคโปร์ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ได้เห็นวัยรุ่นหรือเยาวชนของประเทศนั้น พกพาสมาร์ทโฟนและใช้ iPad แทบทุกคน

ทั้งได้เห็นช่วงอายุระหว่าง 18-25 ปี ที่ถือว่าเป็นช่วงวัยรุ่น ได้เปลี่ยนไปเป็นอายุ 30-45 ปีแทน หมายความว่า เจเนอเรชั่นหรือช่วงอายุของผู้คนได้ยกระดับขึ้น ยุคของคนที่คาบเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์และคอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นกลุ่มวัยกลางคน และผู้สูงอายุ ยุคของวัยรุ่นที่โตมาพร้อมกับประตูที่เปิดกว้างของเทคโนโลยีเริ่มกลายเป็นกลุ่มของวัยผู้ใหญ่ มีผลต่อเนื่องเป็นไปถึงกลุ่มวัยรุ่นหรือเยาวชนในยุคหลังด้วย เรากำลังก้าวสู่ยุคของวัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่า วัฒนธรรมหน้าจอ Teenagers to Screenagers

ผู้เขียนสังเกตพฤติกรรมพ่อแม่ในยุคดิจิตอลที่เลี้ยงลูกในประเทศสิงคโปร์ และหลายครอบครัวในประเทศไทย เห็นความผิดแปลกธรรมเนียมและดำเนินมาอย่างไม่สู้ดีนัก เมื่อคนเป็นพ่อและแม่ในสมัยนี้คิด ที่จะลดภาระการเอาใจใส่บุตรหลานโดยการนำ iPad มาเป็นอุปกรณ์ตัวช่วย

เมื่อใดที่ลูกของตนเริ่มงอแง การดูแลเอาใจใส่จากเดิมหายไป กลับหยิบเอา iPad ให้ลูก เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจดจ่อกับสิ่งอื่นแทน ข้อดีคือ ลดภาระของพ่อแม่ ลูกสามารถทำความเข้าใจ และพัฒนาศักยภาพในการรับรู้กับเทคโนโลยีตัวใหม่ได้เร็วขึ้น ข้อเสียก็คือ เทคโนโลยีกำลังแย่งความรักไปจากมนุษย์ และยังมีผลทำให้สมาธิและอารมณ์ของเด็กสั้นจนเกินไปอีกด้วย

คำตอบมากมายมีอยู่ในอินเทอร์เน็ต แต่คำถามดีๆ ที่เหมาะกับเด็กนั้นจะหายไป

วัฒนธรรมหน้าจอของวัยรุ่น

วัฒนธรรมหน้าจอที่ยกขึ้นมา ทำให้เด็กอยู่กับการตอบสนองที่รวดเร็วของเทคโนโลยี จนลืมว่าการรับรู้ของเด็กที่โตมากับเทคโนโลยีจะได้อิทธิพลของความต้องการตอบสนองแบบทันทีทันใด มากกว่าจะเก็บข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนค่อยเป็นค่อยไป

การคลุกคลีกับเทคโนโลยีในวัยเด็กมีผลต่อภาวะทางความคิดของวัยที่เริ่มเติบโต หากสังเกตวัยรุ่นมัธยมปลาย หรือระดับที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย จะพบว่ากลุ่มดังกล่าวพกโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนเกือบทุกคน แทบจะไม่มีโอกาสได้ปิดเครื่องโทรศัพท์ได้นานเกินฟังก์ชั่นการ Restart เครื่อง หากจะหยุดได้นานที่สุดคือ 1-2 ชั่วโมง เวลาที่ทานข้าว และอยู่ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น

แปลว่า หากเยาวชนในยุคดิจิตอลต้องการคำตอบ หรือข้อมูลในตอนไหน พวกเขาต้องได้ในตอนนั้น พวกเขาไม่ต้องการเสียเวลาเพียงไม่กี่นาทีในการรอข้อมูลในหน้ากระดาษ ที่ต้องอาศัยทักษะในการค้นหาและเปิดอ่าน คอนเทนต์ที่อยู่ในรูปแบบดิจิตอล มีฟังก์ชั่นการค้นหาที่รวดเร็ว ตอบโจทย์ภาวะความต้องการของพวกเขาได้มากกว่า รูปภาพ และวิดีโอ สามารถสื่อความเข้าใจได้รวดเร็วมากกว่าตัวอักษร และตัวหนังสือ

โลกดิจิตอลสร้างความคุ้นเคย และทำให้ภาวะที่ต้องอาศัยการรอคอย เช่น การเข้าคิว และการอ่านหนังสือแล้วคิดตามไม่ทันใจ พวกเขาเสพติดการเชื่อมต่ออย่าง การดูวิดีโอ และบทความ ผ่านการแบ่งปันของเพื่อนที่อยู่บนเครือข่ายมากกว่าจะออกไปค้นหาข้อมูล แล้วมาแบ่งปันซะเอง

ที่สำคัญ หลายอย่างที่พวกเขาไม่เข้าใจ สามารถหาคำตอบนั้นใน Google โดยไม่ได้คิดวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปอย่างถ่องแท้ อีกทั้งข้อมูลใน Google มีทั้งที่เหมาะสมกับเด็กและไม่เหมาะสมอยู่มากมาย

หากจะใช้ฟังก์ชั่นพื้นฐานของระบบในการล็อก หรือปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลไม่เหมาะสมเหล่านั้นคงไม่เพียงพอ อย่าลืมว่าพวกเขาทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีได้ไวและอาจจะเข้าใจได้มากกว่าคุณ

อะไรคือความพอดีของเทคโนโลยี กับเยาวชน

“กว้างมากแต่กลัวแคบลง” เยาวชน และวัยรุ่นยุค Screenagers มีความพอดีน้อยลง จะเห็นว่าพวกเขานิยมที่จะทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน คิดอะไร และทำอะไรที่ไม่สอดคล้องกันในเวลาเดียวกัน ทำให้ผลลัพธ์ของการกระทำทุกอย่างออกมาไม่มีประสิทธิภาพอย่างแบบเดิมที่เคยดำเนินกันมาแต่ก่อน

ผลลัพธ์ที่กว้างมากแต่แคบลง

ข้อมูลที่ปรากฏมากมายในอินเทอร์เน็ต พวกเขาสามารถสร้างขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องปรึกษาผู้ปกครอง เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Hi5 และ Facebook ซึ่งครั้งหนึ่งมีผู้ใช้ที่มีคุณภาพ ตอนนี้มีการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมมากมาย เพราะพวกเขาใส่ใจแต่เรื่องของตนเองในโลกอินเทอร์เน็ต รับรู้เพียงแค่คำชม และของรางวัลที่ปรากฏขึ้นในโลกออนไลน์ ปิดกั้นข้อเสนอแนะและคำตักเตือนจากผู้อื่น โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในด้านอื่น

วัฒนธรรมหน้าจอจะสอนให้เด็กวัยรุ่น และเยาวชนอยู่กับความคิดผิดว่า เมื่อมีอะไรผิดพลาดพวกเขาก็แค่เพิกเฉยมัน เหมือนกับเวลาที่มีอะไรผิดพลาดในระบบคอมพิวเตอร์ เพียงแค่กดปุ่ม Control + Alt + Delete มันก็จบ พวกเขาไม่ได้คิดถึงการแก้ปัญหาที่แท้จริง เมื่อถึงคราวที่พบปัญหาพวกเขาจะได้แต่นิ่ง และหมดหวังในการค้นหาทางออก

อะไรคือ ความพอดี ที่เราต้องปลูกฝังให้แก่เยาวชนเหล่านี้ ถ้าช่วงอายุของเด็กที่ควรจะใช้งานแท็บเล็ตนั้นเปลี่ยนจากระดับประถม 9-14 ปี ไปเป็นระดับมัธยม 15-18 ปี น่าจะมีประโยชน์กว่า เปลี่ยนบทบาทของเยาวชนที่เป็นผู้ใช้งานอย่างเดียวไปเป็นผู้พัฒนาแทน เหมือนกับที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เปิดแคมป์ในช่วงซัมเมอร์ เป็นค่ายพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เป็นต้น

แต่บางครั้งคนที่เป็นพ่อและแม่ควรคอยชี้นำและตอบข้อสงสัยในขณะที่อยู่หน้าจอ iPad และพยายามหากิจกรรมทำร่วมกันมากกว่าการใช้เทคโนโลยีมาเป็นอุปกรณ์แก้ปัญหา เมื่อลูกเกิดอาการงอแง

อย่าให้ Google และ Facebook เป็นพ่อแม่บุญธรรม และอย่าให้แท็บเล็ตเป็นเพื่อนของพวกเขา

เทคโนโลยีกำลังบีบให้สมาธิของเยาวชนยุค Screenagers แคบลง คุณภาพของความคิด คำถาม และการตัดสินใจกำลังลดน้อยลง ทั้งเรื่องของปริมาณคำถามที่แทบจะไม่มีอะไรให้คนเป็นพ่อและแม่รุ่นใหม่ ได้ตอบคำถามของเด็กๆ แม้ว่า “เรา” ซึ่งอาจจะรวมถึงผู้เขียนด้วย เป็นตัวแทนของคนที่อยู่คาบเกี่ยวระหว่างหนังสือและแท็บเล็ต

ความสำคัญของโลกแห่งความเป็นจริงที่ออกห่างจากดิจิตอลยังคงมีอยู่ เราคือฝ่ายที่ต้องเรียกสิ่งเก่าที่ปลูกฝังเราอย่างหนังสือ คำถาม การเรียนรู้ การพัฒนา กลับมาสู่เยาวชนรุ่นต่อไป

การอ่านจากหน้าแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน อาจจะตอบโจทย์ในเรื่องของความรวดเร็วและการตอบสนอง แต่บางครั้ง หนังสือแบบเก่าอาจจะตอบโจทย์ในเรื่องของสมาธิ ภาวะในการคิด และความเข้าใจ

บทสรุปของวัฒนธรรมหน้าจอ เยาวชนในยุคที่ 3

ในฐานะของผู้ใหญ่ในยุคที่ 3 นี้ ควรจะต้องมีการเข้าใจเยาวชนที่เราต้องดูแล มากกว่าจะให้เทคโนโลยีชี้นำพวกเขาไปแทบทุกเรื่อง ลดความเกินพอดีของกิจกรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตของพวกเขาให้น้อยลง พยายามให้พวกเขาตั้งคำถามให้มากเท่าที่จะมากได้ และตอบคำถามพวกเขาได้อย่างถูกต้อง และตรงประเด็นให้มากที่สุด อย่าปล่อยให้เยาวชนในยุคที่ 3 นี้สูญเสียความคิด ความอดทนต่อสิ่งเร้า และการแก้ปัญหา จากการเลี้ยงดูที่ผิดวิธี แต่คำตอบที่ดี ที่เราจะตอบพวกเขาเราจะหาจากไหนดีล่ะ… เปิด Google ก่อนดีกว่า

 

Asst. Prof. Banyapon Poolsawas

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบ และการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Daydev Co., Ltd, (เดย์เดฟ จำกัด)

Related Articles

Leave a Reply

Back to top button

Adblock Detected

เราตรวจพบว่าคุณใช้ Adblock บนบราวเซอร์ของคุณ,กรุณาปิดระบบ Adblock ก่อนเข้าอ่าน Content ของเรานะครับ, ถือว่าช่วยเหลือกัน